ข่าวกิจกรรมคณะ

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ iSTEM-Ed ครั้งที่ 7

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมร่วมเป็นเจ้าภาพงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ iSTEM-Ed ครั้งที่ 7 มี รศ.ดร.นัฐโชติ รักไทยเจริญชีพ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร และรศ.ดร.อธิคม ฤกษบุตร นายกสมาคมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้า (ประเทศไทย) เป็นประธานเปิดงาน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งอรุณ พรเจริญ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม กล่าวรายงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ  หัวข้อ STEM Education for Sustainable Development and Lifelong learning ครั้งที่ 7 (iSTEM-Ed) ณ สุโขทัย เทรเชอร์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดสุโขทัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย วิศวกร นักเทคโนโลยี และผู้ปฏิบัติงานได้แบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ และเทคนิคในการเรียนรู้และการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ รวมทั้งเป็นการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพ

การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก Keynote speaker ร่วมบรรยาย ประกอบด้วย ศ.แมทเทียส ลินดาห์ล อาจารย์สาขาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม ภาควิชาการจัดการและวิศวกรรม มหาวิทยาลัย ลินเชอปิง ราชอาณาจักรสวีเดน บรรยายหัวข้อ อนาคตที่ยั่งยืน : การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมและระบบผลิตภัณฑ์ผสานบริการ (PSS) ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านมุมมองของประธานคณะกรรมการประจำราชอาณาจักรสวีเดนและผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคสำหรับมาตรฐานการออกแบบเชิงนิเวศ ISO 14006 (2001) EcoDesign ศ.เจ เค โรเซนการ์ด ผู้อำนวยการโครงการไทยศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Ash Center for Democratic Governance and Innovation, Harvard Keynnedy school บรรยายหัวข้อ นโยบายสาธารณะ เศรษฐศาสตร์ และการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยบรรยายเกี่ยวกับการออกแบบนโยบายสาธารณะ เศรษฐศาสตร์ และการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย รวมทั้งบทบาทและความสำคัญของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอถึงบทบาทของภาครัฐนการสนับสนุนในแง่เศรษฐกิจและการศึกษาระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังมี ศ.ลี ฮัง อาจารย์ภาควิชา Department of Business Administration, College of Management, National Kaohsiung University of Science and Technology, สาธารณรัฐประชาชนจีน บรรยายในหัวข้อ นวัตกรรมเทคโนโลยีและการปฏิรูปการศึกษา โดยอภิปรายในประเด็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่อโอกาสและความท้าทายของการศึกษา และประเด็นทางสังคมที่เกิดจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ภาคการศึกษาควรให้ความสนใจ

สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจในการประชุมดังกล่าว ประกอบด้วยการนำเสนอบทความ การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับ มัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ และการประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ Collect, Understand and publish : A Workshop on Qualitative Research in STEM Education ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการวิจัยเชิงคุณภาพกับนักวิชาการจากต่างประเทศ นำโดย Assoc. Prof. Anders Berglund รองศาสตราจารย์ด้านการวิจัยคอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดน, เจค เรียดดอน ผู้จัดการโครงการสหภาพยุโรป มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเดนมาร์ก ประเทศเดนมาร์ก และแมตส์ แดเนียลส์ อาจารย์ด้านการวิจัยคอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยอัปซาลส์ ประเทศสวีเดน