เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2568 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้รับเกียรติจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 2 เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “พัฒนาทักษะดิจิทัลด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อออกแบบการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพทางออนไลน์” ผ่านระบบ Zoom Meeting
โดยในการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก
- รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งอรุณ พรเจริญ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
- อาจารย์ ดร.ศกลวรรณ พาเรือง หัวหน้าห้องปฏิบัติการฐานสมรรถนะ
- อาจารย์ ดร.ธิติ ธาราสุข หัวหน้าห้องปฏิบัติการการคิดเชิงระบบ และห้องปฏิบัติการควบคุมและตรวจสอบทางไซเบอร์
ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายและจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล
กิจกรรมการอบรมจัดขึ้นตลอดทั้งวัน โดยเริ่มจากการบรรยายหัวข้อ “การใช้ AI เพื่อการวางแผนการสอนและหลักสูตร” และ “บทบาทของ AI ในการจัดการเรียนรู้” โดย อาจารย์ ดร.ศกลวรรณ พาเรือง และ อาจารย์ ดร.ธิติ ธาราสุข จากนั้น รศ.ดร.รุ่งอรุณ พรเจริญ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์และเทคนิคในการใช้ AI เพื่อช่วยสร้างแผนการสอนรายบท รายคาบ และรายปี รวมถึงการใช้ AI เพื่อออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนแต่ละแห่ง
การอบรมจัดขึ้น ณ ห้องประชุมมิตรกิจธรรม กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 2 โดยมี นายยุทธชัย สารขันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ 2568–2569 รวมถึงนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครอง ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.พระนคร มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในภูมิภาค พร้อมมุ่งมั่นส่งเสริมการเรียนรู้เชิงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการศึกษาของชาติอย่างยั่งยืน
การมีส่วนร่วมในครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของ รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งอรุณ พรเจริญ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ที่ให้ความสำคัญกับการขยายผลองค์ความรู้จากระดับอุดมศึกษาไปสู่โรงเรียนและชุมชนในภูมิภาค โดยเน้นการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสนับสนุนครูให้สามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกการศึกษาในศตวรรษที่ 21 อย่างเป็นรูปธรรม