เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2025 ที่ผ่านมา ภาควิชาการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้จัดสัมมนาวิชาการออนไลน์ในหัวข้อ “AI in Teacher Professional Development: Opportunities and Challenges in Research and Learning Management” ผ่านระบบ VooV MEETING ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานกว่า 150 คน ประกอบด้วย นักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ชาวจีน นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู คณาจารย์ชาวไทยและต่างประเทศ และผู้สนใจทั่วไปทั้งไทยและต่างประเทศ
ในการนี้ อาจารย์ ดร.ศกลวรรณ พาเรือง หัวหน้าห้องปฏิบัติการฐานสมรรถนะ (Competency-Based Laboratory) และอาจารย์ ดร.ธิติ ธาราสุข หัวหน้าห้องปฏิบัติการการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking Laboratory) จาก คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถด้าน “AI เพื่อการศึกษา” บรรยายในหัวข้อ “AI in Teacher Professional Development in Thailand” ซึ่งเน้นถึงแนวทางการนำ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาวิชาชีพครูของประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรพิเศษ Qin Jingdan ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาภาษาจีนจากประเทศจีน มาร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับ “AI-Driven Vocational Education: Challenges, Opportunities, and Growth Pathways for Instructors” ซึ่งเป็นการนำ AI ปรับใช้พัฒนาระบบการศึกษาด้านอาชีวะ
บรรยากาศงานสัมมนาครั้งนี้เต็มไปด้วยความสนุกสนาน เป็นมิตร และสร้างสรรค์ ผู้เข้าร่วมงานต่างร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการนำ AI มาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย
รศ.ดร.รุ่งอรุณ พรเจริญ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า “คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมมุ่งเน้นการพัฒนาคณาจารย์ให้เป็นผู้นำทางวิชาการ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ใหม่ ๆ สู่สังคม โดยในอนาคต อาจมีการจัดสัมมนาวิชาการรูปแบบโมดูล เพื่อฝึกทักษะครูและนักการศึกษาไทยให้ก้าวทันเทคโนโลยี ”
การสัมมนาในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับ AI ในการศึกษา แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาครูไทยให้ก้าวทันโลกดิจิทัล พร้อมสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและยั่งยืนสำหรับอนาคต
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
*** ติดตามข่าวสารการพัฒนาการศึกษา AI ได้ที่ กลุ่ม Line คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม RMUTP ชื่อ “AI_RMUTP” ดังลิงค์ หรือ QR Code ข้างท้ายนี้
